เทศบาลตำบลบุ่งเลิศ

Bunglerd Subdistrict Municipality Office : Local Government

นโยบายนายกเทศมนตรีตำบลบุ่งเลิศ


ออนไลน์ : 11

หัวข้อ :: นโยบายนายกเทศมนตรีตำบลบุ่งเลิศ

คำแถลงนโยบาย
นายถอ เหลาทอง
แถลงต่อสภาเทศบาลตำบลบุ่งเลิศ
ในการประชุมสภาเทศบาลตำบลบุ่งเลิศ สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 1/2568
วันที่ 23 มิถุนายน 2568
.........................................................
เรียน  ท่านประธานสภาเทศบาลตำบลบุ่งเลิศ และสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบุ่งเลิศ ที่เคารพ
 
         ตามที่เทศบาลตำบลบุ่งเลิศ จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีตำบลบุ่งเลิศ เมื่อวันที่  11 พฤษภาคม 2568 กระผมได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลบุ่งเลิศ ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่  11 พฤษภาคม 2568 และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 4  มิถุนายน 2568 นั้น
             เพื่อให้การบริหารงานของเทศบาลตำบลบุ่งเลิศ เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา  48 ทศ48[48]  แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล  พ.ศ. 2496  และแก้ไขเพิ่มเติมจนถึง (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562  ความว่า “ก่อนที่นายกเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่ ให้ประธานสภาเรียกประชุมสภาเทศบาลเพื่อให้นายกเทศมนตรี แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาล โดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศผลเลือกตั้งนายกเทศมนตรี” การประชุมเพื่อแถลงนโยบายของนายกเทศมนตรี ให้กระทำโดยเปิดเผยโดยนายกเทศมนตรีต้องจัดทำนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรแจกให้สมาชิกสภาทุกคนที่มาประชุมด้วย
             การกำหนดนโยบายการบริหารงานเพื่อดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาล และภายใต้ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และวิธีการตามกระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและสอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่เป็นหลัก ใช้หลักเกณฑ์วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาเทศบาลตำบลบุ่งเลิศ การจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อ จัดจ้าง การตรวจสอบ การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในด้านต่างๆ ตลอดจนบริหารงานให้เป็นไปตาม วิสัยทัศน์  พันธกิจ ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์และแนวทางการพัฒนาของเทศบาลตำบลบุ่งเลิศ
              บัดนี้  กระผมในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลบุ่งเลิศ  และคณะผู้บริหารได้กำหนดแนวทาง และนโยบายในการบริหารงานของเทศบาลตำบลบุ่งเลิศเสร็จสิ้นแล้ว  จึงขอแถลงนโยบายต่อสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้   กระผมจะบริหารโดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สำหรับแนวทางการจัดทำนโยบายในช่วง 4 ปี นับแต่บัดนี้เป็นต้นไปได้จัดทำให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยุทธศาสตร์จังหวัดร้อยเอ็ด แผนพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด   ยุทธศาสตร์อำเภอเมยวดี   แผนพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนคำนึงถึงวิสัยทัศน์  และนโยบายของกระผมที่เสนอต่อประชาชนในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ท่านประธานสภาที่เคารพและสมาชิกผู้ทรงเกียรติแนวนโยบายที่กระผมจะแถลงและจะดำเนินการ   มีทั้งหมด  6 ด้าน  คือ
1.  นโยบายด้านการบริหารจัดการ
              1.1 จะบริหารงานในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของนายกเทศมนตรีตามความในมาตรา 48 มาตรา 50 และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ 2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562                                                                                                                    
              1.2 จะบริหารงานในขอบเขตหน้าที่ของเทศบาล ตามความในมาตรา 48 มาตรา 50 และมาตรา 51  แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496  แก้ไขเพิ่มเติมถึง  (ฉบับที่ 14)  พ.ศ.2562    
              1.3  จะบริหารงานโดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  คือ หลักธรรมาภิบาล  6  ด้าน
หลักนิติธรรม  หลักคุณธรรม  หลักความโปร่งใสตรวจสอบได้  หลักการมีส่วนร่วม  และหลักความคุ้มค่า                        
              1.4  จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ  เช่น ข้อมูลด้านบริหารงานบุคคล 
ด้านบัญชีวัสดุทะเบียนครุภัณฑ์  ด้านการเงินการคลัง  ข้อมูลประชากร  ข้อมูลกลุ่มอาชีพต่างๆ เป็นต้น 
              1.5  จะประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ  และเอกชนเพื่อระดมทรัพยากรในการพัฒนาเทศบาลตำบลบุ่งเลิศ
              1.6  จะบริหารงานแบบประชาชนมีส่วนร่วม และยึดหลักการเมืองสมานฉันท์  สามัคคี โปร่งใสตรวจสอบได้ 
2.  นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน
            2.1  ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานจัดให้มีแหล่งน้ำ  คลองส่งน้ำ เพื่ออุปโภค บริโภคและเกษตรกรรมแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก
            2.2  ส่งเสริม  สนับสนุนและประสานงานสร้าง  ซ่อม  ปรับปรุง ถนนภายในหมู่บ้าน และถนนเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม   ให้มีสภาพดีมีมาตรฐาน มีความปลอดภัยแก่ประชาชนและ เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและความเจริญเติบโตของชุมชน
            2.3  จัดให้มีไฟฟ้าสาธารณะภายในหมู่บ้าน  ระหว่างหมู่บ้านและกล้องวงจรปิด (CCTV)  ตามจุดอันตราย ตามความจำเป็นและเหมาะสม
           2.4   จัดให้มีระบบประปาภายในหมู่บ้านให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและความเจริญเติบโตของชุมชน 
3.  นโยบายด้านเศรษฐกิจ
             3.1 ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานเพื่อจัดให้มีโครงการของกลุ่มอาชีพต่างๆ  เพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่ายของประชาชน  เช่น กลุ่มเลี้ยงปลา  กลุ่มทอผ้า  กลุ่มปศุสัตว์  กลุ่มทำปุ๋ย กลุ่มข้าวเป็นต้น  
              3.2  ส่งเสริม พัฒนาอาชีพให้กับประชาชน ทั้งด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรมครัวเรือน ส่งเสริมการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้า  OTOP  และสินค้าพื้นเมืองให้ได้มาตรฐาน  สร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
              3.3  ส่งเสริม  สนับสนุนและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ   และเอกชนในการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรให้ได้ราคาที่เป็นธรรมตามปริมาณและคุณภาพ
4.  นโยบายด้านการศึกษา การกีฬา  ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีและ การท่องเที่ยว
               4.1 ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานจัดให้มีโครงการด้านการศึกษา  กีฬา  ศาสนา วัฒนธรรมประเพณี  การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  จัดให้มีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ เพื่อการสื่อสารและโครงการให้ความรู้  ทำความเข้าใจแก่ประชาชน   เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายประชาคมอาเซียน
               4.2  ส่งเสริมสนับสนุน ให้นักเรียน ประชาชนมีโอกาสศึกษาแหล่งเรียนรู้ การอบรม  การถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิชาการ  และอาชีพด้านต่างๆ จากบุคลากร  นักวิชาการ  ผู้มีประสบการณ์โดยตรง                                                                                                                      
               4.3  ส่งแสริม สนับสนุนและประสานงานให้มี  ลานกีฬา  สถานที่ออกกำลังกาย  สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ  และจัดให้มีการแข่งขันกีฬาเพื่อสุขภาพ  เพื่อต่อต้านยาเสพติด  ทั้งกีฬาสากลและกีฬาพื้นบ้าน    
                4.4  ส่งเสริม  สนับสนุนและประสานงานให้มีกิจกรรมโครงการด้านอนุรักษ์ สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี  ศิลปะ  วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น  เช่น งานวันสำคัญของชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์  งานวันสงกรานต์  งานประเพณีลอยกระทง  งานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น
                4.5  ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานจัดให้มีมัคคุเทศก์น้อยในท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยว
                4.6  ส่งเสริม  และสนับสนุนการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน   เช่น  การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม   การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์  การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นต้น
5.  ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมและชุมชน
                   5.1  ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานโครงการเพื่อกลุ่มองค์กรต่างๆ  เช่น  กลุ่มพัฒนาสตรี  กลุ่มอสม.  อปพร. ชรบ. เพื่อพัฒนาศักยภาพความรู้ความสามารถ ความสามัคคี และมีจิตอาสาอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
                   5.2  ส่งเสริม  สนับสนุนและประสานงานโครงการเพื่อเด็ก  เยาวชนคนหนุ่มสาว  สตรี ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  ผู้ด้อยโอกาส  ผู้ติดเชื้อ ได้รับทุนการศึกษา  เบี้ยยังชีพ  สวัสดิการ ตามหลักเกณฑ์และนโยบายของรัฐบาล
                  5.3  ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานจัดฝึกอบรมให้มีความรู้  ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆเช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย   ภัยแล้ง อุบัติเหตุ เป็นต้น
                  5.4  ส่งเสริม  สนับสนุนและประสานงานนโยบายการป้องกัน  และแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งภาครัฐและเอกชน
                  5.5  ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานให้มีกลุ่มจัดตั้ง  กลุ่ม ชมรม  สมาคมหรือสหกรณ์โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน   เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และความเข็มแข็งของชุมชน
6.  นโยบายด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
                   6.1  พัฒนาการดูแลรักษาความสะอาดในเขตเทศบาล  โดยการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการ   คัดแยกขยะให้เป็นระบบอย่างทั่วถึง
                   6.2  ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตเทศบาลให้สวยงาม สะอาด  น่าอยู่  น่ามอง
                   6.3  ส่งเสริม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
                   6.4 ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมของอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อสม.)
                   6.5  ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมของผู้นำนักเรียนฝ่ายอนามัยของโรงเรียน (อสม.น้อย)
                   6.6  ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานในกิจกรรมการป้องกันควบคุมสถานการณ์ของโรคต่างๆ ที่สามารถป้องกันและดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว                                                                                                             
                 ทั้งหมดที่กระผมกล่าวมาแล้วนั้น คือ นโยบายการบริหารงานของเทศบาลตำบลบุ่งเลิศ ที่กระผมจะต้องนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ล้วนมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม ของพี่น้องประชาชนในชุมชนและภาคส่วนต่างๆ ที่จะต้องเข้ามาช่วยกันเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง การแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง และการดำเนินงานตามนโยบายที่กระผมได้แถลงต่อสภาฯแห่งนี้ไปแล้ว ก็จะบังเกิดผลได้ในทางปฏิบัติ หรือสัมฤทธิ์ผลได้โดยไม่ลำบากนัก ทั้งนี้ก็ด้วยความรู้ ความเข้าใจในภารกิจทิศทางและเป้าหมายขององค์กร ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับตั้งแต่ระดับภายในองค์กรเทศบาลด้วยกัน ได้แก่ สมาชิกสภาเทศบาลทุกท่าน ข้าราชการ พนักงานและการสนับสนุนเสริมจากภายนอกองค์กรและที่สำคัญคือ”การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนทุกท่าน”
                 .ทั้งนี้ เทศบาลตำบลบุ่งเลิศจะเจริญก้าวหน้า ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้  ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้บรรลุเป้าหมายที่กล่าวไว้เบื้องต้น กระผมมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการบริหารงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม โปร่งใส ความเสมอภาค ซื่อสัตย์ สุจริตและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและสภาเทศบาลแห่งนี้ ตลอดระยะเวลา 4 ปี บนพื้นฐานแก้ไขปัญหา ตอบสนองความต้องการและประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง กระผมขอแนะนำคณะผู้บริหารเทศบาลตำบลบุ่งเลิศ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือการทำงานของกระผมดังนี้
              1.นายบุญเพ็ง      ศรีคร                            รองนายกเทศมนตรี
              2.นางสาวศิริพร    เมฆกุดฉิม                      รองนายกเทศมนตรี
              3.นายอรุณ         แก้วดี                            ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี
              4.นายสวัสดิ์        พลเยี่ยม                        เลขานุการนายกเทศมนตรี
                  
              นโยบายที่กระผมได้แถลงต่อสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้นั้น ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขอำนาจหน้าที่และกรอบงบประมาณของเทศบาลตำบล
บุ่งเลิศทุกประการ  ขอขอบคุณครับ.
                                                            .............................................................
วันที่ : 26 มิถุนายน 2568   View : 960
Facebook Chat