ออนไลน์ : 15
ประวัติความเป็นมาของตำบลบุ่งเลิศ
ตำบลบุ่งเลิศ บริเวณที่ตั้งเดิมมีสภาพเป็นป่าใหญ่ เป็นดงดิบทึบมีต้นไม้ขนาดใหญ่มากมายมีสิงสาราสัตว์ ช้าง เสือ หมี และสัตว์อื่นๆ นานาชนิดชุกชุมมากมาย ไม่มีผู้คนเข้าอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ หรือผ่านไปมาในแถบนี้ตลอดมาชั่วกาลนาน ป่านี้ชื่อว่า “ป่าดงมะอี่” ต่อมาได้มีตา-ยายสองสามีภรรยา ชื่อคุณตาอ้วน และคุณยายปุ๋ย ซึ่งมีลำเนาอยู่ที่บ้านโคกกลาง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เข้ามาทำน้ำมันยาง ทำใต้ และเก็บของป่าเพื่อนำไปเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนข้าว ได้เข้ามาประมาณปี พ.ศ.2460 หรือ พ.ศ.2461 เมื่อมาเห็นภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่า และพืชพันธุ์ธัญญาหารธรรมชาติมากมาย มีห้วย มีบึง (บุ่ง) เหมาะสำหรับทำไร่ ทำนา จึงได้ตัดสินใจพาลูกหลานอพยพเข้ามาหักล้าง ถางพง ทำไร่ ปลูกข้าว และตั้งกระต๊อบเป็นบ้านอยู่อาศัยลักษณะ ชั่วคราว มีเพียงครอบครัวเดียวอยู่กลางป่าดงทึบสมัยนั้น
ครั้นประมาณ พ.ศ.2462 ได้เกิดไฟไหม้หมู่บ้านคำชะอี ซึ่งเป็นบ้านของชาวภูไท อยู่ในเขตอำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (มุกดาหารปัจจุบัน) ซึ่งได้ไหม้ทั่วหมู่บ้าน เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและที่อยู่อาศัยเป็นอันมาก ประชาชนได้รับความเดือดร้อน อดอยากจึงได้พากันอพยพหลบหนีไปหาที่ทำกินและที่อยู่ใหม่ในที่ต่างๆ ใน พ.ศ.2462 ถึง 2464 นั้นเอง ชาวคำชะอี จำนวน 7 ครอบครัว ก็ได้พากันอพยพเข้ามาอยู่ร่วมกับสองตา-ยาย ณ ที่แห่งนี้ จึงได้ตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านบุ่ง อีเลิศ” เนื่องจากภูมิประเทศใกล้ที่ตั้งบ้านริมห้วยแดง มีบึงหรือบุ่งซึ่งต้นผักอีเลิศ (ต้นใบชะพู) ขึ้นมากเต็มทั้งบึง จึงตั้งชื่อตามบึงชะพูว่า บุ่งอีเลิศ ในครั้งแรกนั้น
“ตำบลบุ่งเลิศ” เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มาของคำว่า “บุ่งเลิศ” เมื่อย้อนไปในอดีตที่ผ่านมาพบว่าตำบลบุ่งเลิศเป็นหมู่บ้านผู้ไทยแห่งหนึ่งที่อพยพมาจากบ้านคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร มาตั้งถิ่นฐานอยู่ติดกับลำห้วยแห่งหนึ่ง (ลำห้วยแดง) และบริเวณดังกล่าวมีผักชนิดหนึ่งขึ้นอยู่เต็มบริเวณบุ่งเป็นจำนวนมาก มีชื่อว่า “ผักคำภู” (ภาษาผู้ไท) หรือ “ผักอีเลิศ” (ภาษา ผู้ลาว) หรือ “ผักช้าพลู (ภาคกลาง) ชะพลูเถา เฌอภลู (สุรินทร์) ผักปูนา ผักปูลิง ผักปูริง ปูลิงนก ผักพลูนก ผักอีไร ผักอีเลิศ (ภาคอีสาน) พลูลิง (ภาคเหนือ) เย่เท้ย (แม่ฮ่องสอน) พลูนก ผักปูนก (พายัพ) พลูลิงนก (เชียงใหม่) นมวา (ใต้)
บริเวณที่ผักคำภูขึ้นจะเป็นบุ่ง หรือหนองน้ำขนาดเล็ก จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านจากบริเวณที่ผักคำภูขึ้นเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบุ่งอีเลิศ” ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น “บ้านบุ่งเลิศ” เนื่องจากเป็นคำไม่สุภาพและใช้ชื่อบ้านบุ่งเลิศมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก่อนมีผู้คนอาศัยอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นป่าไม้ดงดิบมีต้นไม้ขนาดใหญ่มากมาย ชาวบ้านจึงทำการเกษตร เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน ต่อมาไม่นานมี ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งหมู่บ้านใกล้กับบ้านบุ่งเลิศ ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านคือ บ้านโป่ง และไม่นานก็มีการตั้งบ้านเรือนอีก คือ บ้านคำนางตุ้ม และบ้านโนนสวรรค์ ในปัจจุบันตำบลบุ่งเลิศ มีจำนวน 9 หมู่บ้าน ดังนี้ บ้านบุ่งเลิศ หมู่ที่ 1 บ้านใหม่ไฟฟ้า หมู่ที่ 2 บ้านโป่ง หมู่ที่ 3 บ้านคำอุดม หมู่ที่ 4 บ้านคำนางตุ้ม หมู่ที่ 5 บ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 6 บ้านบุ่งเลิศเหนือ หมู่ที่ 7 บ้านหนองม้า หมู่ที่ 8 บ้านเลิศสมบูรณ์ หมู่ที่ 9